หน้าหลัก > ข่าว > ข่าวประชาสัมพันธ์ > ณรงค์ อนุรักษ์ นักศึกษารุ่นที่ 1
ณรงค์ อนุรักษ์ นักศึกษารุ่นที่ 1

admin dca
2019-07-01 16:28:38

“ ‘สตรีข้ามเพศ’ คือ สตรีที่มีเพศสรีระเป็นชาย แต่มีเพศวิถีเป็นหญิง หรือรู้จักกันในชื่อ กะเทย สาวประเภทสอง ตุ๊ด หรือ แต๊บ เป็นต้น (กฤตยา อาชวนิจกุล, 2554) เป็นหนึ่งในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ที่จัดอยู่ในกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) โดยเริ่มแรกคนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “กะเทย” (Katheoy)

อย่างไรก็ตามความแตกต่างของกลุ่มกะเทยนี้ยังถูกพัฒนาขึ้นตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ ส่งผลให้เกิดการแบ่งกะเทยออกเป็นสองกลุ่มได้แก่ กลุ่มสาวประเภทสอง (Transvestite) ได้แก่กลุ่มที่มีความพึงพอใจในการแต่งกายและปฏิบัติตนเป็นผู้หญิงหรือเรียกอีกอย่างว่ามีความเบี่ยงเบนทางเพศ ในขณะที่อีกกลุ่มได้แก่กลุ่มสาวเปลี่ยนแปลงเพศสรีระ (Transsexual) ได้แก่ ผู้ที่มีสภาพจิตใจคล้ายเพศตรงข้าม มีความไม่พึงพอใจในเพศสรีระที่ได้มาโดยธรรมชาติ และอาศัยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่เพศที่เหมาะสมกับตนเองมากกว่า ทำให้เขาได้เป็นในเพศที่ต้องการในที่นี้หมายถึงผู้ชายที่เปลี่ยนเป็นผู้หญิง

สตรีข้ามเพศจึงถือเป็น “คนชายขอบ (Marginal People)” กลุ่มหนึ่งที่ล้วนต้องการการมีตัวตน และได้รับการยอมรับทางสังคม (ประกายกาวิล ศรีจินดา, 2561) แต่ทั้งนี้ การลบภาพจำของคนในสังคมที่ถูกสร้างมาอย่างยาวนานรวมไปถึงภาพจำใหม่ที่สตรีข้ามเพศหลายคนใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตนเองผิด ๆ ส่งผลให้พื้นที่ทางสังคมของกลุ่มปิดเบือนไปก็ทำได้ยากมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาในสื่อต่างๆ มักจะเผยแพร่ภาพลักษณ์ให้กับสตรีข้ามเพศว่าเป็นตัวตลกมีรูปลักษณ์ของความเซ็กซี่ ปล่อยเนื้อปล่อยตัว มีคู่นอนหลายคน ไม่ประสบความสำเร็จในความรัก ไม่มีศักดิ์ศรี และ ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ภาพลักษณ์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้กลุ่มสตรีข้ามเพศดูมีคุณค่าเลย แต่กลับกลายเป็นเพศที่สามที่สี่ในสังคมเด่นชัดมากขึ้นไปอีก

บทบาทของสตรีข้ามเพศในปัจจุบันเริ่มมีพื้นที่ยืนทางสังคมที่เด่นชัดขึ้น เกิดภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหนึ่งในหลาย ๆ คน หากสตรีข้ามเพศต้องการพื้นที่ทางสังคมของตนเองและเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนจดจำภาพลักษณ์ที่ดีของคนเองและเกิดการยอมรับได้ในที่สุดนั้น สิ่งเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นจากการเสริมสร้างคุณค่าในตัวเองให้เกิดขึ้น ทั้งในมิติของความจริงที่สะท้อนออกมา หรือมิติที่ถูกประกอบสร้างภาพลักษณ์ผ่านสื่อก็ตาม”

ส่วนหนึ่งจากบทความวิชาการ “อัตลักษณ์และภาพลักษณ์ของสตรีข้ามเพศในประเทศไทย” ในรายวิชา ระเบียบวิธีวิจัยทางการสื่อสารขั้นสูง

ณรงค์ อนุรักษ์
นักศึกษาปริญญาเอก รุ่นที่ 1

ผศ.ดร.ประกายกาวิล ศรีจินดา
กรรมการบริหารหลักสูตร
นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสาร

#นิเทศศาสตร์สวนสุนันทา #commartsssru