“อุดมการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ถูกผลิตซ้ำเพื่อธำรงรักษา สร้างความชอบธรรม และสืบทอดอุดมการณ์หลักของระบบทุนนิยม ได้แก่ ความรู้ และเงินคืออำนาจในระบบ ทุนนิยม โดยนักเรียนทุกคนต่างต้องการได้รับคะแนนสอบดี เพื่อแลกกับความต้องการของแต่ละบุคคล เช่น ทุนการศึกษา (ลินและแบงค์) รถยนต์คันใหม่ (พัฒน์) การได้แสดงละครโรงเรียน (เกรซ) การได้เรียนต่อ ต่างประเทศ (ทุกคนที่สอบ STIC) เป็นต้น
นอกจากนี้ โรงเรียนยังเป็นสถานที่ผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางสังคม ดังกรณีของลินที่เคยใช้โรงเรียนเป็นสถานที่หารายได้จากความรู้ของเธอ แต่ในท้ายที่สุด ผู้สร้างได้ผลิตซ้ำอุดมการณ์ผ่านค้าพูดและการกระทำของลินว่า โรงเรียนเป็นสถานที่สร้างเด็กเรียนดี และคนดีเข้าสู่สังคม เมื่อลินเลือกที่จะสารภาพความผิด ในการโกงข้อสอบ STIC และตั้งใจที่จะเป็นครูที่ดีเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม โดยที่ผู้ชมไม่ได้รู้สึกสงสัย ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวละครในเรื่องดังกล่าวว่าเกิดขึ้นเพราะการได้รู้ซึ้งแล้วว่าการทุจริต ทำให้เธอ เกือบต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป ได้เงินเท่าไร ก็ไม่คุ้มกันอีกแล้ว หรือเพราะพ่อของเธอที่อยู่สนับสนุนให้เธอ เลือกทำแต่สิ่งที่ดี ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ Althusser ที่เสนอว่า อุดมการณ์นั้นได้ถูกบรรจุไว้แล้วในจิตไร้สำนึกของเรา และจากการทำงานของกลไกทางอุดมการณ์ที่สอดประสานร่วมกัน (Over-determination) ระหว่างสถาบันทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว วัดหรือโรงเรียนที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์คนดีของสังคม อยู่ตลอดเวลา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาพยนตร์เรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ซึ่งเป็นสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง ที่มีบทบาทในการธำรงรักษา ผลิตซ้ำ และสืบทอดอุดมการณ์ทางสังคมเช่นเดียวกัน
ขณะที่ผู้ชมจะถูกป้อนชุดความคิดให้คล้อยตามอุดมการณ์ในภาพยนตร์ โดยปราศจากคำถาม หรือ ความเห็นแย้งต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากอุดมการณ์ในภาพยนตร์ได้สร้างค้าอธิบาย สร้างอัตลักษณ์ และความชอบธรรมให้กับเรื่องราวที่ปรากฏ”
ดร.ดุษฎี
นิลดำ
ประธานหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต
สาขานวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐและภาคเอกชน
อ่านบทความอุดมการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” โดย ดุษฎี นิลดำ, ศุภกร ไกรษร, จักรกฤษณ์ กลิ่นเพ็ชร และ ณัฐนันท์ เจริญวงษา ฉบับเต็มได้ที่ http://mct.rmutp.ac.th/…/04-01-07-Rarticle-V3-dusadee-P.68-…
#นิเทศศาสตร์สวนสุนันทา #commartsssru